เรื่อง : การบรรยายเรื่อง นโยบายและความสำคัญของการพัฒนาความรู้ เพื่อขับเคลื่อนงานตามพันธกิจหลักของกรมสุขภาพจิต
  

การบรรยายเรื่อง นโยบายและความสำคัญของการพัฒนาความรู้
เพื่อขับเคลื่อนงานตามพันธกิจหลักของกรมสุขภาพจิต
โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต
และผู้บริหารด้านการจัดการความรู้กรมสุขภาพจิต


จากการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพหลักของประเทศ เพื่อให้การจัดบริการสุขภาพสามารถเข้าถึง ประชาชนได้มากที่สุด จึงเกิดการปรับกระบวนการทำงานต่างๆ เช่น มีเขตสุขภาพ มีการจัดกลุ่มระบบบริการเป็นสาขาที่จำเป็นต่างๆ อย่างครบถ้วน ทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน บำบัด รักษา และฟื้นฟู จำนวนทั้งสิ้น ๑๒ สาขาสำคัญ โดยงานสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นหนึ่งในสิบสองสาขาสำคัญนั้น


ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตได้จัดทำ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานสุขภาพจิต”ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานสาขาสุขภาพจิตและจิตเวช เกิดผลลัพธ์การทำงานที่ดี นอกจากนี้ วิธีการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปมากเลยทีเดียว จากเดิมเรามักทำงานกันภายใต้ระบบตัวชี้วัด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนถ้ามีโอกาสไปเยี่ยมหน่วยบริการระดับสถานีอนามัย จะเห็นว่ามีการเขียนตัวชี้วัดขึ้นบนกระดานดำเต็มไปหมด แต่ตอนนี้เราเลือกใช้ตัวชี้วัดแบบมุ่งเป้าในภาพรวมมากขึ้น โดยลดจำนวนตัวชี้วัดลง ซึ่งตัวชี้วัดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่เราใช้ในการขับเคลื่อนงานกับหน่วยงานระดับพื้นที่ แม้กระนั้นก็ตาม การขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและจิตเวชก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำได้อย่างง่ายดายนัก


การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือ หน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่ เริ่มตระหนักหรือเห็นความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลือนงานสุขภาพจิตร่วมกับ กรมสุขภาพจิตมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดแข็งของกรมสุขภาพจิต ที่เป็นกรมวิชาการที่มี องค์ความรู้ในการทำงานกับพื้นที่อย่างชัดเจน และเป็นที่ยอมรับว่าองค์ความรู้ของกรมสุขภาพจิตเหล่านี้ ช่วยให้พื้นที่จัดบริการสุขภาพจิตได้บรรลุตามเป้าหมายของพื้นที่


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อผลลัพธ์ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและจิตเวช มีหลายปัจจัยมาก เราจึงต้องการมาตรการหลักหรือกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อน ที่สามารถนำพาไปสู่ผลลัพธ์ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาสุขภาพพื้นฐานได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการจัดการความรู้ในหลายระดับ เข่น เมื่อก่อนเด็กมารับบบริการด้วยปัญหาพัฒนาการล่าช้า กรมสุขภาพจิตก็มีชุดความรู้เรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเด็กในช่วงวัยต่างๆ แต่ในความเป็นจริงการที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่จะจัดบริการดูแลเด็ก ที่มีพัฒนาการล่าช้าในพื้นที่ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่มากกว่าคู่มือพัฒนาการเด็กเท่านั้น ซึ่งต้องมีการจัดการเพื่อให้ได้ชุดความรู้อีกชุดหนึ่งเพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนงาน ถึงกระนั้นก็ตาม ความรู้เหล่านั้นก็ยัง ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงภาพรวมของปัญหาพัฒนาล่าช้าของเด็กทั้งประเทศได้ ต้องมีองค์ความรู้อีกชุดหนึ่ง เพื่อจัดการกับระบบการทำงานที่เป็นปัญหาอีกด้วย


นั่นหมายถึง ภายใต้การดำเนินงานตามโครงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานสุขภาพจิตนั้น ผู้รับผิดชอบโครงการต้องรู้จักและใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ ในการทำงานตลอดเวลาและในทุกระยะของการดำเนินงานโครงการ

นอกจากนี้ เราพบว่าหน่วยบริการของกรมสุขภาพจิตสามารถจัดบริการให้แก่ประชาชนได้เพียง ร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด ยังคงมีประชาชนอีกร้อยละ ๘๐ ไม่สามารถมารับบริการจากหน่วยงาน ในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ แต่เมื่อเราทำงานกับหน่วยบริการระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ด้วยการสนับสนุน องค์ความรู้ที่เราได้จากการจัดการความรู้ด้วยเครื่องมือต่างๆ ทำให้กรมสุขภาพจิตสามารถขยายการให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากขึ้นถึงประมาณร้อยละ ๕๐


การขยายระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชผ่านหน่วยบริการระบบสาธารณสุขในพื้นที่นั้น กรมสุขภาพจิตดำเนินการภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานสุขภาพจิต” ซึ่งแบ่งโครงการออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ ๑ คือ การขับเคลื่อนให้มีการจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชให้สอดคล้องกับ กลุ่มวัย กลุ่มที่ ๒ คือ การพัฒนาให้เกิดงานสุขภาพจิตและจิตเวชในระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ รวมทั้งภายในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตด้วย เนื่องจากเป็นที่เห็นพ้องตรงกันว่า ยิ่งเราสามารถจัดบริการให้อยู่ใกล้ผู้บริการมากเท่าใด ผู้รับบริการก็จะสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นโครงการ ที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการในกลุ่มที่ ๑ และ ๒


นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักกันว่า งานสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุข หรือ กล่าวได้ว่า Mental Health is in Public Health ยกตัวอย่างเช่น ระบบการดูแล ทางสังคมจิตใจ(Psychosocial Care System)เป็นงานหนึ่งในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ


ยิ่งไปกว่านั้น การขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตและจิตเวชในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน กรมสุขภาพจิตจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในแต่ละพื้นที่ เพื่อจะได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับบริบทและปัญหาของแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ หลายปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตจึงกำหนดให้ทุกโครงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานสุขภาพจิต มีการจัดกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งคือ การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ความสำเร็จของการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชของแต่ละพื้นที่ เช่น ในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระหว่างพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้จากบทเรียนความสำเร็จ ตลอดจนค้นหาวิธีปฏิบัติที่ดี (Good Practice)ของการดำเนินงานในระดับพื้นที่ด้วย


ถึงแม้กระนั้นก็ตาม ยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า เราจะต่อยอดวิธีปฏิบัติที่ดีที่ค้นพบเหล่านั้น ไปเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (BEST PRACTICES) เพื่อนำไปเป็นองค์ความรู้หรือแบบอย่างในการดำเนินงาน แก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้อย่างไร


นอกจากเราต้องจัดการความรู้ในการดำเนินงานกับพื้นที่ให้มากขึ้นแล้ว การจัดการความรู้ภายใต้ ๙ กิจกรรมหลักของโครงการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแต่ละโครงการขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินงานสุขภาพจิต ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากทุกโครงการมีการใช้เครื่องมือการจัดการความรู้และใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานโครงการ ในการวางจังหวะก้าวของงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอยู่ในวิถีของการทำงานปกติหรือกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงาน จะเอื้อให้งานบรรลุเป้าหมายได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น


กรมสุขภาพจิตจึงมุ่งหวังที่จะพัฒนาผู้รับผิดชอบหลักการดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินงานสุขภาพจิตทุกท่าน ให้เป็น “นักจัดการความรู้” ที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเครื่องมือ การจัดการความรู้ สามารถออกแบบและนำเครื่องมือการจัดการความรู้แต่ละชนิด ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานภายใต้โครงการที่ทุกท่านรับผิดชอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนา งานสุขภาพจิตในปีถัดๆ ไปได้อย่างแท้จริง

   ไฟล์แนบ :  
<< ไม่มีไฟล์แนบ >>

 

© 2008 Knowledge Management กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข
สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ติดต่อ ประสานงาน เกี่ยวกับเว็บไซต์ dmhkm@dmh.go.th 163,059 Visitor Since June 6, 2011