ความเป็นมาของการบริหารจัดการความรู้ กรมสุขภาพจิต


ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 ที่ได้กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การบริหารราชการดังกล่าวและเกิดสัมฤทธิผล ในปี 2548 กรมสุขภาพจิตจึงได้เริ่มพัฒนาโครงสร้างโดยแต่งตั้ง นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้บริหารด้านการจัดการองค์ความรู้ในกรมสุขภาพจิตหรือ CKO (Chief knowledge officer) เพื่อสนับสนุนผลักดันให้การจัดการความรู้ของกรมสุขภาพจิตสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารการจัดการความรู้ กรมสุขภาพจิต เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางพัฒนาระบบการจัดการความรู้ ควบคุมกำกับติดตามประเมินผล การดำเนินงานตามแผนการจัดการความรู้ของกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ กรมสุขภาพจิตเพื่อ ศึกษาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนวทาง เป้าหมายการบริหารจัดการความรู้ของกรมสุขภาพจิต ชี้แจง ทำความเข้าใจ พัฒนปรับปรุงการปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการความรู้กำหนดเป็นกระบวนงานและวิธีการมาตรฐาน

ในด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการความรู้นั้น กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการปูพื้นฐานความรู้ให้แก่ผู้แทนคณะทำงานและผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ภายใต้ยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิต 2 รุ่น คือในระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2548 และ วันที่ 2-3 มิถุนายน 2549

แนวทางการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ในองค์กรมีหลากหลายแนวคิดด้วยกัน แนวคิดหนึ่งที่สอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์กรและจะช่วยพัฒนาการจัดการความรู้ของกรมสุขภาพจิตได้ดีคือ Model ปลาทู ซึ่งถือว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ โดยกำหนดภาพที่ชัดเจนของทิศทางการจัดการความรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างคลังความรู้ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม คณะทำงานพัฒนาระบบการจัดการความรู้ กรมสุขภาพจิต จึงได้เริ่มดำเนินการโดย พัฒนาวิสัยทัศน์การบริหารจัดการความรู้ โดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ กรมสุขภาพจิต และนโยบายกรมสุขภาพจิตที่ต้องการเห็นภาพของการจัดการความรู้ด้านสุขภาพจิตชุมชนและสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ หลังจากนั้น คณะทำงาน ฯ ได้ร่วมกันพัฒนาองค์ประกอบและเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินการจัดการความรู้ด้านสุขภาพจิตชุมชนและสุขภาพจิตภัยพัติ เพื่อให้หน่วยงานได้ใช้ประเมินตนเองในแต่ละด้านอันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรและระหว่างองค์กร นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้สนับสนุนความเข้มแข็งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหน่วยงาน โดยจัดการอบรมพัฒนาทักษะการเป็น คุณอำนวย (Facilitator) และการสกัดความรู้ หรือคุณลิขิต (Note taker) ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2549 กำหนดให้มีการสัญจรการจัดการความรู้ 4 ครั้ง และปลายปีงบประมาณจะมีเวทีคือ ตลาดนัดความรู้ สำหรับการแสดงผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการความรู้ของหน่วยงาน

ในการประเมินการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่างๆ ปี 2549 นี้สำนักงานงานพัฒนาระบบราชการได้กำหนดประเด็นการประเมินผล ใน 4 มิติ 16 ตัวชี้วัดด้วยกัน มิติที่ 4 ด้านการพัฒนาองค์กร ตัวชี้วัดที่ 13 คือ ระดับความสำเร็จของแผนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 8

ในการประเมินการปฏิบัติราชการดังกล่าว กรมสุขภาพจิตได้กำหนดเป้าหมาย KM (Desired state) ให้หน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตสามารถพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนานวตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต โดยให้สำนักพัฒนาสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานนำร่องที่ถูกประเมิน และให้หน่วยงานทางวิชาการอีก 4 แห่งคือ สถาบันสมเด็จเจ้าพระยา สถาบันราชานุกูล สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นหน่วยงานคู่ขนานมีการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนานวตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิตด้วย สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด โดยเฉพาะโรงพยาบาล / สถาบันนั้น กรมสุขภาพจิตได้กำหนดผลลัพธ์ให้มีคลังความรู้ (KA) 2 เรื่อง เป็นเรื่องที่ตอบสนองนโยบายกรมสุขภาพจิต 1 เรื่องและเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาในพื้นที่หรือเป็นเรื่องที่หน่วยงานมีความสนใจอีก 1 เรื่อง

© 2008 Knowledge Management กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข
สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ติดต่อ ประสานงาน เกี่ยวกับเว็บไซต์ dmhkm@dmh.go.th 158,383 Visitor Since June 6, 2011